กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน |
อจุตฤาษีหลงเชื่อคารมของชูชกเจ้าเล่ห์
เลยบอกทางไปสู่เขาวงกต
มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ที่ ๗ กัณฑ์มหาพน
มหาพน หมายถึง ป่าใหญ่ หรือไพรกว้าง
ผู้นิพนธ์ พระเทพโมลี (กลิ่น) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ)
กัณฑ์มหาพน ประดับด้วยคาถา ๘๐ พระคาถา
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลง “เชิดกลอง”
ประกอบกิริยาเดินอย่างเร่งรีบของ ชูชก สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ ข้อคิดจากกัณฑ์ คนฉลาดแต่ขาดเฉลียว คนมีปัญญาแต่ขาดสติย่อมพลาดท่าเสียทีได้ เนื้อความโดยย่อ ชูชก เดินทางผ่านสถานที่สำคัญๆ ตามที่พรานเจตบุตรบอก จนกระทั่ง อัจจุตฤาษี จึงสอบถามที่อยู่ของ พระเวสสันดร พระอัจจุตฤาษี เห็นท่าทีและพฤติกรรมของ ชูชก ครั้งแรกก็ลังเล กลัวว่า ชูชก จะมาขอพระชาลี พระกัณหาไปเป็นทาส หรือไม่ก็ขอพระนางมัทรี จึงไม่บอกทาง ชูชก แก้ตัวด้วยมธุรสวาจา ยกเหตุผลว่าจะมาเที่ยวขอให้เสื่อมเสียพงศ์พราหมณ์ทำไม การมาครั้งนี้เพื่อเยี่ยมเยียน พระเวสสันดร จริงๆ ขอให้ได้เห็นจะได้เป็นกุศล ทั้งยังอ้างว่าตั้งแต่พระเวสสันดร จากเมืองมา ตนยังไม่ได้พบ พระเวสสันดร เลย ทำให้ พระอัจจุตฤาษี ใจอ่อน หลงเชื่อว่า ชูชก มาด้วยเจตนาดี เมื่อเห็นว่า พระอัจจุตฤาษี ใจอ่อนหลงเชื่อแล้ว ชูชก จึงขอค้างแรมที่อาศรมหนึ่งคืน รุ่งขึ้น พระอัจจุตฤาษี จัดหาผลไม้ให้ และบอกทางไปพระอาศรมของ พระเวสสันดร อย่างละเอียด พรรณนาถึงป่าเขา ฝูงสัตว์ร้ายต่างๆ ด้วยเป็นป่าใหญ่ สมกับที่เรียกว่า ป่ามหาพน ชูชก จดจำคำแนะนำเส้นทางไว้ แล้วอำลามุ่งหน้าเดินทางไปสู่พระอาศรมของ พระเวสสันดร
อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์มหาพน จะเสวยสมบัติในดาวดึงส์เทวโลกนั้นแล้ว ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล มีทรัพย์ศฤงคารบริวารมากมี อุทยานและสระโบกขรณีเป็นที่ประพาส เป็นผู้สมบรูณ์ด้วยศักดานุภาพเฟื่องฟุ้งไปทั่ชมพูทวีป อีกทั้งจักได้เสวยอาหารทิพย์เป็นนิตย์นิรันดร
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม พระอัจจุตฤาษี เป็นแบบอย่างของนักพรตผู้ฉลาด แต่ขาดเฉลียว หูเบาเชื่อง่าย
ข้อคิดประจำกัณฑ์
๑.ฉลาดแต่ขาดเฉลียว (มีปัญญาแต่ขาดสติ)
๒.สงสารฉิบหาย เชื่อง่ายเป็นทุกข์
๓.คบคนให้ดูหน้า(หน้าตา,หน้าที่,หน้าใน,จิตใจ)ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ ซื้อเสื่อให้ดุลาย ซื้อไร่ให้ดูดิน จะได้ไม่ผิดพลาด